ชุมชนเขื่อนเชี่ยวหลาน - Anurak Lodge

เขื่อนเชี่ยวหลาน หรือ เขื่อนรัชชประภา มีความหมายว่า แสงสว่างแห่งราชอาณาจักร 

ที่แห่งนี้เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ของภาคใต้ มีโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำทำหน้าที่ให้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ย 554 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ช่วยเสริมให้ระบบไฟฟ้าในภาคใต้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น

ด้วยทัศนียภาพของเขื่อนเชี่ยวหลานที่เป็นทะเลสาบขนาดใหญ่โอบล้อมด้วยเขาหินปูนสลับไปมา อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลานจึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของอุทยานแห่งชาติเขาสก นักท่องเที่ยวสามารถเช่าเรือนำเที่ยวของคนท้องถิ่นเพื่อล่องเรือชมวิวธรรมชาติ หรือจะจองที่พักบังกะโลลอยน้ำก็มีเปิดให้บริการอยู่หลายแห่ง

เรื่องราวของสถานที่แห่งนี้เกี่ยวโยงกับผู้คนและสัตว์ป่าหลายร้อยชีวิต การสร้างเขื่อนเชี่ยวหลานคือจุดสิ้นสุดของหมู่บ้านอันเก่าแก่อายุนับร้อยปี ก่อนจะเป็นเขื่อนอันกว้างใหญ่ที่เปรียบดังแสงสว่างแห่งราชอาณาจักรในปัจจุบัน

ตั้งแต่วันที่เปิดอุโมงค์น้ำ ผืนป่าแห่งนี้ถูกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนสัตว์ป่าในพื้นที่ต้องหนีน้ำกระจัดกระจายไปทุกทิศทาง เนื่องจากถิ่นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของพวกมันถูกน้ำท่วมอย่างฉับพลัน โดยเฉพาะสัตว์ป่าที่อาศัยบริเวณลุ่มต่ำได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งพวกมันไม่สามารถย้ายที่อยู่อาศัยไปแห่งอื่นได้ด้วยเหตุผลทางระบบนิเวศน์อันเป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติ มากกว่านั้น การสร้างเขื่อนก็กระทบต่อชุมชนในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ชุมชนบ้านเขาพังตั้งอยู่ในพื้นที่ของบริเวณเขื่อนรัชชประภา และชุมชนอื่นๆ รอบเขื่อนรัชชประภา ชุมชนในละแวกนี้สืบสานวัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตดั้งเดิมมานานกว่าร้อยปี ด้วยด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ใกล้กับแม่น้ำคลองแสงจึงเป็นเมืองสำคัญบนเส้นทางค้าขายตั้งแต่สมัยโบราณตั้งแต่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

หลายชุมชนในพื้นที่ประกอบอาชีพชาวสวนปลูกยางพารา ปลูกข้าว สวนผลไม้ ค้าขาย และรับจ้างทั่วไป ชาวบ้านมีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง มีรายได้หลักจากการขายยางพารา ซึ่งเดิมทีชาวบ้านมีสวนยางพาราประมาณ 25 ไร่ต่อครัวเรือน หลังจากมีเขื่อน ชาวบ้านก็ได้ที่ดินชดเชยจากรัฐในจำนวน 19 ไร่ต่อครัวเรือน

การอพยพในช่วงแรก ชาวบ้านมีรายได้จากการขายยางพาราน้อยลง แต่ก็มีรายได้จากการประมงมากขึ้น โดยรวมแล้วชาวบ้านต้องจ่ายเงินซื้ออาหารมากขึ้นด้วย แต่จากการศึกษาพบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่มองว่าพวกเขามีคุณภาพชีวิตดีขึ้น การสร้างเขื่อนช่วยลดความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ตอนล่างได้อย่างดี

ในด้านการช่วยเหลือจากภาครัฐ กฟผ. ได้ร่วมมือกับหน่วยราชการต่างๆ ฝึกอบรมส่งเสริมอาชีพรองให้แก่ชาวบ้านหลายโครงการ มีการจ่ายค่าทดแทนทรัพย์สินพร้อมทั้งจัดสรรที่อยู่อาศัยและที่ทำกินให้ใหม่

หลังจากอพยพผู้คนทั้งหมด สังคมแห่งนี้ถูกพัฒนาต่อเนื่องจนเป็นชุมชนขนาดใหญ่และมีสถานะเป็นเทศบาลตำบล​ คือ​เทศบาลตำบลบ้านเชี่ยวหลานในปัจจุบัน มีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและวิถีชุมชนที่น่าสนใจ เช่น สะพานแขวนเขาพัง วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านเขาเทพพิทักษ์ โครงการศูนย์ศิลปาชีพบ้านเชี่ยวหลาน และกลุ่มผ้าทอมอบ้านเชี่ยวหลาน โดยมีวิถีชีวิตอันเรียบง่ายเป็นเสน่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมานานหลายสิบปี