จังหวัดสุราษฎร์ธานี นับเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีชนพื้นเมืองเป็นพวกเซมังและชาวมลายูดั้งเดิม ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตลุ่มน้ำหลวง(แม่น้ำตาปี) ต่อมาได้เจริญขึ้นเป็นศูนย์กลางของเมืองไชยา แห่งศรีวิชัย มีหลักฐานแสดงถึงการตั้งรกรากและเส้นทางสายไหมในอดีต พื้นที่อ่าวบ้านดอนเจริญขึ้นจนเป็นอาณาจักรศรีวิชัยในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ 13 โดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นเครื่องยืนยันความรุ่งเรืองในอดีต ช่วงนั้นพุทธศาสนาลัทธิมหายานเผยแผ่มาจากอินเดีย หลักฐานสำคัญคือพระบรมธาตุเจดีย์ทรงศรีวิชัย พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสำริด และจารึกวัดเวียงไชยา เนื้อหากล่าวสรรเสริญพระเจ้ากรุงศรีวิชัย หรือศรีวิชเยนทรราชา และจากการที่ได้รับวัฒนธรรมจากอินเดีย จึงส่งผลให้ความหลากหลายในสำรับอาหารปักษ์ใต้ได้รับอิทธิพลจากอินเดียใต้และประเทศใกล้เคียงเช่นกัน
คําว่าไชยามาจาก 2 พยางค์สุดท้ายของคำว่า “ศรีวิชยะ” ซึ่งชาวใต้มักตัดคำให้สั้นลง คำว่าศรีวิชัยปรากฏเป็นนามกษัตริย์และนามเมือง รวมทั้งยังปรากฏเป็นนามภูเขาศรีวิชัย เขตอำเภอพุนพิน เคยอยู่ในเขตเมืองไชยา รวมทั้งศรีวิชัยยังปรากฏในบันทึกของพระภิกษุจีนชื่ออี้จิง ซึ่งเดินทางผ่านไชยาไปอินเดียเมื่อ พ.ศ. 1214 โดยเรียกเมืองนี้ว่า ชิ-ลิ-โฟ-ชิ ซึ่ง เสียงใกล้เคียงกับ ศิ-ริ-วิ-ชยะ เมืองในแถบนี้ได้แยกออกเป็น 3 เมือง คือ เมืองไชยา เมืองท่าทอง และเมืองคีรีรัฐ อยู่ภายใต้การปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช ตรงกับช่วงเวลาที่อาณาจักรสุโขทัยทางเหนือกำลังเจริญรุ่งเรือง และต่อมาอาณาจักรสุโขทัยได้ขยายอำนาจลงมาทางใต้ไปถึงแหลมมลายู เมืองไชยาจึงตกอยู่ภายใต้การปกครองของกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาในเวลาต่อมา
เมื่อเวลาผลัดเปลี่ยนมาอยู่ในช่วงการปกครองของกรุงรัตนโกสินทร์ในช่วงต้น ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 1 พม่าได้ยกทัพมาตีหัวเมืองภาคใต้ ไชยาถูกพม่าทำลายเสียหาย จึงย้ายตัวเมืองไปตั้งใหม่ที่ตำบลพุมเรียง หลังจากนั้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้มีการกำหนดให้เรียกอำเภออันเป็นที่ตั้งของศาลากลางจังหวัดว่า “อำเภอเมือง” บ้านดอนซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งศาลากลางจังหวัดในขณะนั้นจึงเปลี่ยนเป็น “อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี” แปลว่าเมืองแห่งคนดี ตามชื่อจังหวัดที่ได้รับพระราชทาน ซึ่งท่านได้ตั้งชื่อนี้จากการสังเกตอัธยาสัยของคนในพื้นที่ โดยไชยาให้คงชื่อเมืองไว้เพราะเป็นเมืองประวัติศาสตร์ ปัจจุบันจึงเป็น“อำเภอไชยา” เป็นอำเภอหนึ่งของสุราษฎร์ธานีมาจนทุกวันนี้
อําเภอไชยามีชื่อเสียงหลายด้าน เช่น มีท่านพุทธทาสภิกขุ หรือพระธรรมโกศาจารย์ สวนโมกขพลาราม ผ้าทอพุมเรียง ไข่เค็มไชยา และมวยไชยา สมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏนักมวยไชยาชื่อ ปลอง จำนงทอง ลูกศิษย์พระยาไชยา ได้รับการโปรดเกล้าฯ ยกย่องเป็น “หมื่นมวยมีชื่อ” พร้อม ๆ กับนักมวยลพบุรีผู้หนึ่งเป็น “หมื่นมือแม่นหมัด” และ แดง ไทยประเสริฐ ชาวนครราชสีมา เป็น “หมื่นชงัดเชิงชก” นักมวยทั้งสามนี้ไม่ต้องเสียส่วยสาอากร และเมื่อมีโทษผิดจะให้กรมการเมืองลดหย่อนผ่อนโทษตามสมควร ด้วยความมีชื่อเสียงของมวยไชยา จึงมีผู้กล่าวเป็นสำนวนว่า ‘มวยไชยา เพลงนาชุมพร’เพลงนาเป็นการร้องรำประจำถิ่นชาวชุมพร
‘สุราษฎร์ธานี รุ่งเรืองสมเมืองคนดี อีกธารตาปี นามพระธีรราชประทาน เป็นแดนอุดมไม้ปลา มะพร้าวมาเนิ่นนาน เหล่าราษฎร์สุขศานต์ มุ่งมั่นขยันทำกิน มิ่งขวัญ ชาวเมือง มีองค์พระธาตุพุทธศาสน์ประเทือง ถิ่นชนกตัญญูยิ่ง เมตตาอยู่อาจิณ ร่วมรักแผ่นดิน คนดี นี้ไชโย’ สิ่งเหล่านี้คือที่มาของจังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดแห่ง ‘เมืองร้อยเกาะ เงาะอร่อย หอยใหญ่ ไข่แดง แหล่งธรรมะ’ จังหวัดที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ของไทยและมีที่เที่ยวครบถ้วน ทั้งทะเล เกาะ ภูเขา ป่าไม้ เขื่อน หรือแม้แต่ตัวเมือง ก็มีทุกบรรยากาศทุกสไตล์ครบถ้วนสำหรับคนรักการท่องเที่ยว อีกทั้งยังยังมีอาหารรสเลิศ ประวัติศาสตร์อันยาวนาน และวัฒนธรรมที่สวยงามรอให้คุณได้มาสัมผัส