มารู้จักกับเชี่ยวหลาน - Anurak Lodge

เขื่อนเชี่ยวหลาน หรือ เขื่อนรัชชประภา แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับฉายาว่าเป็นกุ้ยหลินเมืองไทย เพราะมีความสวยงามของเทือกเขาหินปูนที่เหมือนกันกับกุ้ยหลินที่ประเทศจีน ซึ่งเขื่อนเชี่ยวหลานเป็นเขื่อนที่ก่อสร้างขึ้นมาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 เพื่อช่วยอำนวยประโยชน์ในด้านสังคม เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

เขื่อนเชี่ยวหลาน เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2530 ในหลวงรัชการที่ 9 เสด็จประกอบรัฐพิธีเปิดเขื่อนเชียวหลานและโรงไฟฟ้าพลังน้ำ พร้อมพระราชทานนามใหม่ว่า “เขื่อนรัชชประภา” มีความหมายว่า “แสงสว่างแห่งราชอาณาจักร” เนื่องจากวัตถุประสงค์หลักของการสร้างเขื่อนคือการผลิตกระแสไฟฟ้า

สำหรับข้อมูลของตัวเขื่อนในการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ เขื่อนเชี่ยวหลานเป็นเขื่อนประเภทเขื่อนหินถมแกนดินเหนียว มีความจุ 5,640 ล้านลูกบาศก์เมตร ขนาดพื้นที่อ่างเก็บน้ำ 185 ตารางกิโลเมตร มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเฉลี่ย 3,057 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ขนาดสันเขื่อน ความยาว 761 เมตร ความสูง 94 เมตร และมีเขื่อนปิดกั้นช่องเขาอีก 6 แห่ง อยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำ 5 แห่ง กับฝั่งซ้ายของแม่น้ำ 1 แห่ง มีโรงไฟฟ้า เป็นอาคารแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก ตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำ มีการติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้า จำนวน 3 เครื่อง เครื่องละ 80,000 กิโลวัตต์ รวมกำลังการผลิต 240,000 กิโลวัตต์ และให้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยประมาณ 554 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี และลานไกไฟฟ้า ซึ่งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้า ประมาณ 100 เมตร ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำ ทำหน้าที่ในการส่งพลังไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้า ไปยังสถานีไฟฟ้าแรงสูงพังงา และสถานีไฟฟ้าแรงสูงสุราษฎร์ธานี

ประโยชน์ของเขื่อนเชี่ยวหลานมีหลายข้อ เช่น

การชลประทานเพื่อการเพาะปลูก
ปริมาณน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนให้ประโยชน์ต่อการเพาะปลูกพืช บริเวณสองฝั่งแม่น้ำในตอนล่าง ในเขตท้องที่อำเภอบ้านตาขุนอำเภอคีรีรัฐนิคม และอำเภอพุนพิน สามารถทำนาปรังและปลูกพืชในฤดูแล้งได้ผลดี

บรรเทาอุทกภัย
การกักเก็บน้ำของเขื่อนในฤดูฝน จะช่วยลดความรุนแรงของสภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ตอนล่างได้เป็นอย่างดี

การประมง
อ่างเก็บน้ำของเขื่อนรัชชประภาเป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่สำคัญ ทุกๆ ปี กฟผ. ได้ปล่อยพันธุ์ปลาและกุ้งเป็นจำนวนมากลงในอ่างเก็บน้ำ สามารถให้ผลผลิตทางด้านการประมงเฉลี่ยปีละ 300 ตัน ซึ่งเป็นการส่งเสริมรายได้ให้กับราษฎรในพื้นที่ได้อีกทางหนึ่ง

การท่องเที่ยว
ทัศนียภาพโดยรอบบริเวณเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ สวยสดงดงาม และสงบร่มรื่น เหมาะแก่การไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ และสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวปีละกว่า 150,000 คน ให้เดินทางมาเยี่ยมชมเขื่อนรัชชประภา

การผลิตไฟฟ้า
พลังน้ำจากเขื่อนสามารถนำมาผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ปีละ 315 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ช่วยเสริมระบบไฟฟ้าในภาคใต้ให้มั่นคงยิ่งขึ้น นอกจากนี้น้ำที่ปล่อยผ่านเครื่องผลิตไฟฟ้ายังส่งต่อเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านเกษตรกรรมบริเวณพื้นที่ท้ายน้ำอีกด้วย

แก้ไขน้ำเสียและผลักดันน้ำเค็ม
สภาพน้ำที่มีปริมาณน้อยของลำน้ำตาปี-พุมดวง ในฤดูแล้ง ทำให้เกิดภาวะน้ำเน่าเสียได้ง่าย ขณะเดียวกันบริเวณปากแม่น้ำจะมีน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาตามลำน้ำ น้ำที่ปล่อยจากเขื่อนรัชชประภาจะช่วยเจือจางน้ำเสียในลำน้ำ และต้านทานการรุกล้ำของน้ำเค็มที่ปากแม่น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับชาวสุราษฎร์ธานี นิยมไปปิคนิคปูเสื่อกินข้าว และถ่ายรูปชมวิวบริเวณศาลาประภาภิรมย์ ขับรถเล่นที่สันเขื่อน จุดหลักที่ทุกคนไป จุดหมายคือบริเวณศาลาประภาภิรมย์ ได้แต่มองไปเบื้องหน้าไกล ๆ มองไปในอ่างเก็บน้ำสุดสายตา ไม่ทราบว่ามีอะไรอยู่ในนั้น

การได้นั่งเรือล่องไปในทะเลสาบ ทำให้หลายๆคนต้องมองซ้ายมองขวา หันหลังหันหน้า ตื่นตาตื่นใจกับทัศนียภาพรอบตัว เทือกเขาหินปูนที่เรียงรายสูงต่ำสลับซับซ้อน ทอดกายบนผืนน้ำสีเขียวมรกตกับท้องฟ้าแสนสดใส จนปัจจุบันนี้ ที่นี่ เป็นอีกจุดหมายหนึ่งที่ผู้คนทั้งในไทยและทั่วโลกต่างเดินทางมาเยือน จนเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับต้นๆของแผ่นดินใหญ่สุราษฎร์ธานีไปแล้ว

แล้วคุณล่ะ เคยมาสัมผัสเชี่ยวหลาน กุ้ยหลินเมืองไทยแห่งสุราษฎร์ธานี แห่งนี้แล้วหรือยัง