พืชพรรณแห่งเขาสก - Anurak Lodge

อุทยานแห่งชาติเขาสก มีพื้นที่อยู่ในท้องที่อำเภอพนมและอำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสภาพพื้นที่เป็นธรรมชาติอันกว้างใหญ่ปกคลุมไปด้วยป่าดิบชื้น ครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งหมดของเขตอุทยานแห่งชาติ ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงต่ำสลับซับซ้อน เป็นดินแดนศูนย์กลางของ “ขุนเขาแห่งป่าฝน” ผืนป่าดิบชื้นผืนใหญ่ที่สุดและมีความสำคัญของภาคใต้ อันประกอบไปด้วยอุทยานแห่งชาติเขาสก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองยัน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา อุทยานแห่งชาติศรีพังงา และอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง อุดมไปด้วยพืชพรรณมากมายหลายชนิด ทั้งพืชพรรณที่หายากและเป็นพืชเฉพาะถิ่น

วันนี้เราจึงคัดสรรพืชพรรณหายากแปลกตา ที่มีเฉพาะในป่าดิบชื้นแห่งนี้ให้ทุกคนได้มาดูชมกัน ใครเป็นคนรักต้นไม้แปลก ต้นไม้สวยงาม ห้ามพลาดเด็ดขาด!

บัวผุด

ไฮไลท์แห่งเขาสก ดอกไม้ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นดอกไม้ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก หาชมได้ยาก คนใต้มักเรียกกันว่า บัวตูม ในไทยมีขึ้นแค่ในบริเวณเขาสกในเท่านั้น ดอกบัวผุดมีกลิ่นที่เหม็นมาก ลักษณะคล้ายกับหม้อขนาดใหญ่มีกลีบหนา มีเส้นผ่านศูนย์กลางโดยประมาณ 50 – 100 เซนติเมตร ใช้เวลาในการเติบโตนานกว่า 9 เดือน และดอกบัวผุดจะบานอยู่ได้แค่ 4-5 วัน จากนั้นจะค่อย ๆ ดำเน่าไป ดอกบัวผุดในอุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี จะเปิดให้ชมในช่วงเดือนพฤศจิกายน – เดือนเมษายนของทุกปี ซึ่งนักท่องเที่ยวจะต้องเดินขึ้นเขาไปประมาณ 2-5 กิโลเมตร ถึงจะพบดอกบัวผุดเบ่งบาน โดยเส้นทางการเดินจะค่อนข้างชัน และมีความเป็นธรรมชาติค่อนข้างสูงมาก ใครจะเข้าไปดู นอกจากต้องเตรียมกาย ก็ต้องเตรียมใจไว้ก่อนด้วย เพราะบางครั้งอาจจะไม่พบเลยก็ได้

ปาล์มเจ้าเมืองถลาง

ปาล์มเจ้าเมืองถลาง หรือ ปาล์มชิงหลังขาว พบเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งพบเพียง 2-3 แห่ง บริเวณเนินป่าดิบชื้น แถบอุทยานสัตว์ป่าเขาพระแทว จังหวัดภูเก็ต และอุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฏร์ธานี เป็นปาล์มลำต้นเดี่ยว ขนาดกลาง สูง 5-7 เมตร เป็นไม้พื้นล่างของป่าขึ้นรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ ลักษณะเด่น ปาล์มเจ้าเมืองถลาง หรือ ปาล์มชิงหลังขาว จะมีก้านใบยาวได้ถึง 2 เมตร สีม่วงคล้ำเกือบดำ ก้านใบเรียบไม่มีหนาม แผ่นใบด้านข้างกลมแผ่ออก ตัวใบสีเขียวเข้ม ใต้ใบสีขาวเหมือนมีผงชอล์กเคลือบอยู่ โดยส่วนโคนใบติดกันเป็นแผ่น ส่วนตอนปลายแยกเป็นอิสระเป็นใบย่อยๆ ละเอียด ปัจจุบันถูกเรียกว่าเป็นหนึ่งในต้นไม้สวยงามหายาก นิยมนำไปปลูกตามที่พักอาศัย

หมากพระราหู

เป็นปาล์มลำต้นเดี่ยว อาจแตกกอได้ 3-5 ต้น ลักษณะเด่นคือไม่มีกาบใบ มีรกเป็นหนามแข็งสานกันหุ้มลำต้นไว้ แต่เมื่อลำต้นสูงขึ้นแผ่นรกนี้จะหลุดออก ใบเป็นรูปพัด เป็นพืชที่พบครั้งแรกที่ประเทศไทยเขาหินบริเวณเขาพระราหู อุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันถูกระบุเป็นพืชที่ใกล้สูญพันธุ์

กกเขาสก

เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบได้เฉพาะที่เขาสก สุราษฎร์ธานี ขึ้นตามหน้าผาหินปูน ความสูงประมาณ 100 เมตร กกแตกกอหนาแน่น ตั้งตรงหรือห้อยลง แยกเพศต่างต้น ใบรูปแถบ ยาวได้ถึง 50 ซม. กาบใบยาว 8–9 ซม. ลิ้นใบบาง แยกแขนงสั้นๆ

ชมพูสิริน

ชมพูสิริน หรือ เทียนสิรินธร เป็นพืชไม่มีเนื้อไม้วงศ์เทียน เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย ดอกสีชมพู พบเฉพาะทางภาคใต้ที่ จ.กระบี่ และ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่หาดูได้ยาก เพราะขึ้นตามหน้าผาหินปูนที่ระดับความสูง 20-200 เมตร

รากพูพอน

เป็นรากแบบหนึ่ง ที่เกิดจากการปรับตัวของต้นไม้บางชนิดที่เกิดอยู่บริเวณริมน้ำ อยู่ในพื้นที่ที่มีดินตื้น หรืองอกอยู่ในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม ที่ซึ่งรากแก้วไม่สามารถชอนไชลงไปในดินได้ ต้นไม้จึงมีการปรับตัวให้รากเปลี่ยนแปลงรูปร่างให้มีลักษณะเป็นแผงใหญ่ยื่นออกนอกลำต้นทางโคน ซึ่งติดกับรากแขนงของไม้ยืนต้น ซึ่งรากพูพอนจะช่วยดูดซับน้ำและช่วยลดแรงสั่นสะเทือนให้กับต้นไม้ เพื่อให้อยู่ในสภาวะที่ไม่เหมาะสมได้ นอกจากทำหน้าที่สำคัญในการพยุงลำต้นแล้ว พูพอนยังทำหน้าที่ดักเก็บเศษซากพืชซากสัตว์บนผิวดินที่จะย่อยสลายกลายเป็นแร่ธาตุให้กับต้นไม้ และช่วยกักและดูดซับธาตุอาหาร เนื่องจากเวลาฝนตกน้ำจะชะแร่ธาตุซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณผิวดินออกไป การที่มีพูพอนจะทำให้สามารถกักแร่ธาตุสารอาหารไม่ให้ไหลไปกับน้ำได้ รากพูพอนมีขนาดใหญ่ยักษ์ตั้งแต่ 5 ไปจนถึง 40 คนโอบ จึงทำให้เป็นหนึ่งในจุดสนใจที่ตื่นตาตื่นใจของนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมป่าฝนแห่งนี้

ที่กล่าวมาข้างต้น มีพืชบางสายพันธุ์เพิ่งถูกค้นพบในไม่กี่สิบปีมานี้ ยังมีพืชที่ยังไม่ถูกค้นพบอีกมากมาย รอการมาเยือนของคุณ ณ เขาสกแห่งนี้